RC20253-1.1

จีนมาเที่ยวไทยทำไม…เที่ยวอย่างไร ?

จากรายงานสรุปสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนยังคงครองอันดับหนึ่งในการเดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทยต่อเนื่องในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา โดยจากรายงานภาวะเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของสำนักปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สถิติข้อมูลในเดือนมกราคม ถึง มิถุนายน ปี พ.ศ. 2562 พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยกว่า 5 ล้านคน และสร้างรายได้สูงกว่า 2 แสนล้านบาท ทำให้ไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยที่กลุ่มนักท่องเที่ยวจีนยังคงเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงผู้ประกอบการไทยที่ต้องการเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ เนื่องจากทั้งในเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณนักท่องเที่ยวจีนยังคงเป็นกลุ่มหลัก ๆ ที่สร้างรายได้ให้กับการท่องเที่ยวไทยอย่างมหาศาล

ทำไมคนจีนถึงเลือกเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย

ในมุมมองของชาวจีนมองว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีแหล่งท่องเที่ยวจำนวนมาก ทั้งในรูปแบบนันทนาการ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม และแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ในแง่มุมของสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาตินั้น ชาวจีนส่วนใหญ่เมื่อนึกถึงการมาท่องเที่ยวในประเทศไทยจะนึกถึงการเดินทางมาเที่ยวทะเลที่สวยงามและมีแสงแดดสดใส จากข้อมูลพบว่าเกินกึ่งหนึ่งของนักท่องเที่ยวจีนมีจุดมุ่งหมายท่องเที่ยวในจังหวัดที่ติดชายทะเล ซึ่งเมื่อพิจารณาภูมิประเทศของประเทศจีนแล้วอาจจะเป็นที่น่าแปลกใจ เนื่องจากประเทศจีนเป็นประเทศที่มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก และมีดินแดนด้านตะวันออกที่เป็นชายฝั่งยาวถึง 14,500 กิโลเมตร แต่ชายฝั่งดังกล่าวนั้นเป็นทะเลชายฝั่งคาบสมุทรที่ไม่ได้สวยงามเหมาะกับการท่องเที่ยว อีกทั้งยังมีความผันผวนของสภาพอากาศอันเนื่องมาจากพายุด้วย นอกจากนี้ราวกึ่งหนึ่งของชายฝั่งมีลักษณะทะเลเขตหนาว ไม่สามารถที่จะเล่นน้ำได้เหมือนกับทะเลเขตร้อน

อย่างไรก็ตามความนิยมในการท่องเที่ยวธรรมชาติทางทะเลในจีนก็มีการเติบโตขึ้นทุกปี แต่แหล่งท่องเที่ยวไม่ได้มีมากพอที่จะรองรับได้ อีกทั้งการเที่ยวทะเลในจีนมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและมีประชากรหนาแน่นอย่างมาก โดยเฉพาะช่วงเทศกาลที่อาจมีค่าใช้จ่ายสูงมากกว่าการเดินทางไปต่างประเทศเสียอีก ดังนั้นการเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยจึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่เกิดขึ้น จากข้อมูลรายงานสถิติการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยปี พ.ศ. 2560 ของสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาแสดงให้เห็นว่านักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนต่ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากที่สุด และหากพิจารณาถึงภูมิภาคที่นักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยโดยคำนึงถึงภูมิภาคที่ติดชายฝั่งทะเล ประกอบไปด้วยภาคใต้และภาคตะวันออก พบว่าทั้งสองภูมิภาคมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนมาเยี่ยมเยียนทั้งหมดร้อยละ 29.79 ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่มากที่สุด และมากกว่ากรุงเทพมหานครอีกด้วย

นอกจากนั้นพบว่า ชาวจีนมองว่าการมาเที่ยวในไทยสามารถใช้เวลาท่องเที่ยวได้อย่างคุ้มค่า เนื่องจากมีแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติตอนกลางวัน และมีแหล่งท่องเที่ยวนันทนาการในเวลากลางคืนอีกด้วย ส่งผลให้มีวัยรุ่นจีนเดินทางมาเที่ยวในรูปแบบกลุ่มเพื่อนด้วยเช่นกัน

ปัจจัยด้านวัฒนธรรมการกินก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนจำนวนมากเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทย คนจีนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหารโดยการแสดงบทบาทเป็น “ผู้สำรวจ” และ “ผู้ตามรอย” โดยมองว่าเป็นการท่องเที่ยวเพื่อเปิดโลกทัศน์ด้านอาหาร ซึ่งอาหารไทยนั้นมีความแปลกใหม่และน่าตื่นตาตื่นใจ เมนูต้มยำกุ้ง เมนูหอยทอด เป็นหนึ่งในเมนูที่โด่งดังและเป็นที่ชื่นชอบของชาวจีน อีกทั้งประเทศไทยยังมีผลไม้เมืองร้อนที่อร่อยอย่าง ทุเรียน มะพร้าว และมะม่วง โดยเมนูข้าวเหนียวมะม่วงได้รับความนิยมจากชาวจีนเป็นอย่างมาก

การท่องเที่ยวของชาวจีนเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ?

ชาวจีนส่วนใหญ่นิยมเดินทางมาท่องเที่ยวในลักษณะเป็นหมู่คณะหรือกรุ๊ปทัวร์ที่เดินทางมาพร้อมครอบครัวและเพื่อนฝูง โดยข้อมูลจากสถาบันการวิจัยท่องเที่ยวต่างประเทศของจีน (COTRI – China Outbound Tourism Research Institute) ได้ออกรายงานพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีน พบว่านักท่องเที่ยวจีนชอบเดินทางพร้อมกับครอบครัวที่มีเด็กหรือลูกไปด้วยร้อยละ 54 เดินทางกับสมาชิกในครอบครัวหรือญาติพี่น้องร้อยละ 46 เดินทางพร้อมเพื่อนร้อยละ 45 เรียงตามลำดับ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันนักท่องเที่ยวจีนหันมาให้ความสนใจในการท่องเที่ยวแบบ SoLoMo (Social + Location + Mobile) และ FIT (Free Independent Travelers) มากขึ้น ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวด้วยตนเอง ศึกษาหาข้อมูลและวางแผนการท่องเที่ยวเอง แตกต่างจากการเดินทางแบบหมู่คณะหรือการมากับบริษัททัวร์

SoLoMo และ FIT คืออะไร ?

          สำหรับ SoLoMo เป็นการรวมกันของคำว่า Social, Location และ Mobile โดย SoLoMo เป็นการพูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีใหญ่ ๆ สามอันคือ

  • ฺSocial พฤติกรรมการทำอะไรร่วมกันกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ข้อมูลให้คนอื่น การแสดงความคิดเห็นและการรับฟังความเห็นของคนอื่น ๆ เทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้เราสามารถแสดงความคิดเห็นได้ง่ายและหลากหลายมากยิ่งขึ้น เช่น การให้ดาว การให้คะแนน การเขียนรีวิว การใส่รูปภาพประกอบในสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นการส่งต่อข้อมูลข่าวสาร เพื่อช่วยประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้าและใช้บริการต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
  • Location พฤติกรรมการค้นหาและใช้ข้อมูลโดยคำนึงถึงสถานที่ ที่อยู่ ตั้งแต่ระดับประเทศ ไปจนถึง เมือง เขต หรือแม้กระทั่งซอย รวมไปถึงการค้นหารายงานข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ต่าง ๆ ที่อยากไปหรือได้ไปมา โดยมีอุปกรณ์ GPS ที่สามารถหาตำแหน่งสถานที่ที่ต้องการจะไป รวมถึงให้ข้อมูลในการเดินทาง หาร้านอาหาร ร้านขายยา ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงกับที่เราอยู่ขณะนั้น รวมถึงระบบการ check in ตามสถานที่ต่าง ๆ เพื่อบ่งบอกว่าเราได้มาที่นี่แล้ว
  • Mobile การลดขนาดของเทคโนโลยีจากการใช้คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตมาสู่สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตที่สามารถพกพาได้สะดวก ทำให้ความสามารถในการรับส่งข้อมูลและการหาข้อมูลต่าง ๆ สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว

ส่วน FIT นั้นย่อมาจาก Free Independent Travelers หมายถึง นักท่องเที่ยวที่วางแผนการท่องเที่ยวด้วยตนเอง ตรงข้ามกับการท่องเที่ยวแบบกรุ๊ปทัวร์ แสดงให้เห็นว่าในปัจจุบันคนจีนเริ่มนิยมเดินทางมาท่องเที่ยวเองมากขึ้น ซึ่งปัจจัยที่ทำให้นักท่องเที่ยวจีนนิยมมาเที่ยวแบบ FIT มากขึ้น เนื่องมาจากการที่คนจีนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากขึ้น โดยประชากรจีน 1,400 ล้านคน มี 731 ล้านคนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งกลุ่ม FIT จะค้นหาข้อมูล ติดต่อจองตั๋วเครื่องบิน ห้องพักผ่านระบบออนไลน์ โดยเฉพาะช่องทาง Social Media ของจีน ไม่ว่าจะเป็น “Youku” ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับ YouTube / “RenRen” ที่มีลักษณะคล้ายกับ Facebook  / “Weibo” ที่คล้ายกับ Twitter และ “WeChat” ที่คล้ายกับ LINE ขณะที่ Search Engine ที่คนจีนนิยมใช้ค้นหาข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลการท่องเที่ยว คือ “Baidu” แตกต่างจากในไทย ที่นิยมใช้ Google และถ้าเป็นเว็บไซต์สำหรับท่องเที่ยวโดยเฉพาะ คนจีนจะนิยมเข้า “Mafengwo Qyer” (หม่า-เฟิง-โว๋-ฉง-โหย๋ว-หว๋าง) ขณะที่คนไทยจะเข้า TripAdvisor

เราควรปรับตัวหรือรับมืออย่างไร ?

จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่าขณะนี้คนจีนนอกจากจะเดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยผ่านระบบบริษัททัวร์แล้ว ยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยที่เดินทางมาท่องเที่ยวด้วยตนเองและมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยเหตุผลหลักมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การสืบค้นข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ แต่อย่างไรก็ตาม สื่อออนไลน์ในประเทศจีนยังมีความแตกต่างจากประเทศอื่น ๆ โดยจีนมีสื่อสังคมออนไลน์เป็นของตนเอง ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะหาข้อมูลจากคนใกล้ชิดที่เคยเดินทางมาประเทศไทย หรือจากเว็บไซต์ของจีนในรูปแบบการแชร์ประสบการณ์ เป็นการเล่าต่อแบบปากต่อปาก

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่ผู้ประกอบการไทยจะต้องศึกษาหาข้อมูล วิเคราะห์ตลาดและความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวเหล่านั้น รวมถึงวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง ปัญหาอุปสรรค และโอกาสในการพัฒนาธุรกิจของตนเอง เพื่อสร้างมาตรฐานให้สินค้าและบริการ รักษาคุณภาพของสินค้าและบริการที่สะท้อนผ่านการรีวิว ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อ อันจะนำไปสู่ความเข้มแข็งของธุรกิจได้

นอกจากนั้นองค์กรภาครัฐควรมีบทบาทในการส่งเสริมพัฒนาทุนมนุษย์ในด้านความรู้และทักษะพื้นฐานสำหรับผู้ประกอบธุรกิจทั่วไป ได้แก่ การใช้ภาษา การตลาด การออกแบบ และการใช้เทคโนโลยีและเรียนรู้เกี่ยวกับ social media ในช่องทางต่าง ๆ รวมถึงศึกษาและรองรับระบบการชำระเงินไม่ว่าจะเป็น Alipay หรือ WeChat Pay ซึ่งเป็นช่องทางการชำระเงินออนไลน์ที่ได้รับความนิยมของคนจีน เพื่อเข้าถึงตลาดและตอบสนองความต้องการได้อย่างตรงจุด

อ้างอิงข้อมูลจาก

โครงการวิจัย “การลงทุนของจีนกับผลกระทบต่อความมั่นคงทางธุรกิจท่องเที่ยวในภาคเหนือของไทย”

หัวหน้าโครงการ : เทพฤทธิ์ มณีกุล

สนับสนุนโดย : สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

เรียบเรียง นพรดา คำชื่นวงศ์
กราฟิก ชนกนันท์ สราภิรมย์
พิสูจน์อักษรและตรวจทาน จินตนา ธรรมวงษ์
00:00
00:00
Empty Playlist